เนื้อหามันไม่ได้จำกัดอยู่กับคนในบริษัทฯ ก็เลยคัดลอกมาให้อ่านกัน
ผู้ใช้แรงงาน(รวมมนุษย์เงินเดือนบางพวก) เป็นผู้มีฐานะทางสังคมระดับล่าง มีจำนวนมาก รวมกันไม่ติด อ่อนแอ ไม่มีอำนาจต่อรอง
ระบบประกันสังคม เป็นระบบลงขันตามสัดส่วนรายได้ แล้วจ่ายคืนในรูปสวัสติการพื้นฐาน เช่น รักษาพยาบาล
หลอกให้เชื่อว่า ให้หลักประกันชราภาพ (แต่สะสมเงินสมทบแบบจำกัด จึงจ่ายคืนแบบจำกัด) ทั้ง ๆ ที่ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จากเงินรับกรณีชราภาพ แล้วถ้าคำนวณเป็น จะรู้ว่า เงินกองทุนชราภาพจะไม่พอจ่าย เพราะ (สมทบเดือนละ 1.5% + อีกเท่าตัวจากนายจ้าง แล้วได้รับบำนาญต่อเดือน 15% ของเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย สูงสุด 2,250 บาท) ส่งสมทบ 1 ปี จ่ายคืนได้แค่ 2 เดือนกว่าก็หมด ทำงานมา 30 ปี จ่ายคืนได้ 72 เดือน(6 ปี) ส่วนที่สมทบไว้หมดแล้ว ดอกผลไม่มากพอ แต่คนอายุยืนกว่า 61 ปี (สิทธิชราภาพ เริ่มได้เมื่อไม่ทำงานหลังอายุครบ 55 ปี)
เรื่องประกันสังคม ต่อไปจะเป็นปัญหาสังคม เมื่อกองทุนไม่มั่นคง แต่ตอนนี้ปัญหายังซุกตัวอยู่ใน ภูเขาน้ำแข็ง คนส่วนใหญ่เห็นเม็ดเงินสะสมมูลค่ามาก เพราะ สิทธิประโยชน์ชราภาพยังไม่เกิดเต็มที่ คนที่เกษียณตอนนี้ กรณีสมทบไม่เกิน 12 เดือน จะได้รับบำเน็จเอาเงินก้อนที่สมทบไว้ คืนกลับไปบวกดอกเบี้ยนิดหน่อย (ถ้าสมทบเกิน 12 เดือน แต่ไม่ถึง 180 เดือน ได้คืนส่วนของนายจ้างด้วย) ปลายปี 2556 จึงจะเริ่มได้สิทธิบำนาญ เมื่อถึงเวลานั้น เงินกองทุนชราภาพ จะเริ่มหดหาย ซึ่งอาจจะยังไม่รู้สึก เพราะ เงินเข้ายังมากกว่าเงินออก ต้องผ่านไป 10 ปี 20 ปี เมื่อคนเกษียณมากขึ้น แล้วไม่ตายง่าย จนหมุนเงินเข้าไม่ทันเงินออก จึงจะเริ่มเห็นอาการเงินกองทุนหด แต่เพราะเวลายังอีกนาน จะยังไม่มีใครร้อนตัวตอนนี้ พวกลูกจ้างจะเรียกร้องสิทธิประโยชน์เพิ่ม โรงพยาบาลจะเก็บเงินเพิ่ม พวกเหลือบจะมาดูดเงินจากกองทุน
ผมอายุยืนไม่ถึง ที่จะเห็นปัญหาปูดขึ้นมา
การประกันสังคม เป็นลักษณะการออมแบบหนึ่ง (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็เช่นเดียวกัน) แต่การออมแบบนี้ บรรเทาความวิกฤตทางสังคมได้หน่อยหนึ่ง ไม่พอเลี้ยงชีพเมื่อยามแก่เฒ่า
ถ้าผู้ใช้แรงงานเป็นคนแก่ ไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู ก็อยู่ไม่ได้ ถ้าลูกหลาน ยังไม่เปลี่ยนฐานะจากผู้ใช้แรงงาน เป็นฐานะอื่นที่ดีกว่า ก็อาจดูแลได้จำกัด เพราะ ลำพังตัวผู้ใช้แรงงาน ดูแลตัวเอง ก็ลำบาก
ยุคอุตสาหกรรม ผู้ใช้แรงงานในโรงงาน เป็นผู้หนุนความมั่งคั่งให้นายทุน
Knowledge worker คือ ผู้มีการศึกษา ต่างจากผู้ใช้แรงงานในโรงงาน พวกนี้มีพัฒนาการสูงกว่า (แต่สำหรับประเทศไทย เราขยับตัวด้านการศึกษาช้าเกินไป เหมือนกับเป็นคนหลับ ถึงตอนนี้ ก็ยังไม่ตื่น สะลึมสะลือ งัวเงีย เราหลงผิดว่าเราทำดีที่สุดแล้ว เพราะ ประเทศเราอุดมสมบูรณ์ เราจึงไม่ค่อยกระตือรือร้น )
ในส่วนที่เกี่ยวกับประกันสังคม บริษัทของเราจ่ายเงินสมทบ มากกว่ารับประโยชน์คืน พนักงานส่วนใหญ่เป็น Knowledge worker แต่พวกเราบางคนอาจจะยังไม่ตระหนักว่า เราจะต้องรู้จักออมมากกว่าที่เป็นอยู่ สังคมรอบข้าง มีวัตถุหลอกล่อให้เราหลงไหลง่าย เราต้องรู้จักอดกลั้นต่อสิ่งยั่วกิเลส ยั่วความฟุ้งเฟ้อ เราต้องนึกถึงวันข้างหน้าที่อาจไม่แน่นอน ต้องเผื่อเหนียว กลัวอด เราจะไปหวังพึ่งเงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคมไม่ได้ อนาคตอยู่ในมือเราเอง แต่เราร่วมมือกันหนักแน่น จะแข็งแรงกว่าคนเดียวหรือจับมือแบบหลวม ๆ
ดร. สุริยัน ติษยาฐิคม
3 comments:
ผมคิดว่าบทความนี้แยกแยะเหตุผลได้ดี แต่ข้อเสนอไม่ค่อยเวิร์ค คือบอกว่าแค่ "ออมให้มากกว่าที่เป็นอยู่" ดูไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าไรนัก
ผมไม่มั่นใจว่านิยามคำว่า "ออม" ในที่นี้หมายถึงอะไร แต่ดูจากอารมณ์แล้วเหมือนจะหมายถึงแค่ฝากแบงก์เท่านั้น ซึ่งผมคิดว่าอาจไม่เพียงพอแล้วสำหรับปัจจุบัน (ไม่ได้หมายความว่าให้ไปเล่นหุ้น แต่ปัจจุบันนิยามการออมกว้างไปมาก การซื้อประกันก็ถือเป็นการออม)
ถ้าเจอผู้เขียนก็ฝากถามด้วยนะครับ
กรณีของ กบข. คงเล็งเห็นตรงนี้ไว้แล้ว
ว่าเมื่อไหร่ที่ถึงรอบของการจ่ายคืน จะเป็นภาระหนักแน่
จึงได้พยายามขยายการลงทุนออกไปให้กว้างขวางที่สุด
ล่าสุดได้ประสบความสำเร็จในการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในต่างประเทศ เป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด
ตามนี้ น่าจะช่วยให้กองทุนออกดอกผล เพื่อรองรับกับภาระในอนาคตได้ - หวังว่า
mk:
ถ้าสำหรับสมัยนี้
จะบอกว่า "ออม" ก็คือ "ลงทุนแบบความเสี่ยงต่ำ" จะได้ไหม
นอกจากฝากธนาคาร ก็ซื้อพันธบัตร ซื้อกองทุน หรือซื้อหุ้นพื้นฐานดี แบบหวังเงินปันผล/แตกลูก/เก็งกำไรระยะยาว
Post a Comment