ปีนี้ลูกผมเริ่มเข้าชั้นอนุบาล 1 แล้ว
โรงเรียนที่ลูกเข้าเรียน กำหนดไว้ว่าเด็ก อ.1 ต้องมาเรียน summer
เพื่อที่จะได้ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่
เมื่อถึงตอนเปิดเรียนจริงจะได้ไม่เกิดความชุลมุน
สองวันแรก โรงเรียนกำหนดไว้ว่า ผู้ปกครองต้องมาอยู่เป็นเพื่อนลูกด้วย
ผมก็เลยได้โอกาสระลึกถึงความหลังสมัยเรียนอนุบาล
เข้าไปเรียนเป็นเพื่อนลูกสองวัน
วันแรกนี่ชุลมุนมาก
เด็กๆ 3 ห้อง ห้องละ 30 คน พร้อมผู้ปกครอง(อย่างน้อย) 90 คน และบวกด้วยครูห้องละ 5 คน
ก็เลยเป็นบรรยากาศที่น่าสนใจ
เด็กที่กล้า ผู้ปกครองก็ไม่ต้องดูแลมากนัก
ส่วนเด็กที่ขี้อาย (ลูกผมจัดอยู่ในกลุ่มนี้) ก็จะเกาะพ่อหรือแม่เป็นตังเม
วันแรกคุณครูเน้นที่การจัดระเบียบ และ routine ที่เด็กๆต้องทำ
เช่น การกินน้ำการเก็บแก้วน้ำ, ลำดับการล้างมือ, การเช็คชื่อ, การทานข้าว
วันที่สอง ผู้ปกครองเริ่มคุ้นกัน
ก็เลยเป็นวันผู้ปกครองเมาท์ (ไม่ค่อยดูลูกแล้ว)
วันนี้ตามตาราง คุณครูกำหนดให้เป็นวันศิลปะ
ผมก็เลยระริกระรี้หน่อย (อยากเล่นเสียเอง)
จบสองวัน ก็มาถึงไม้แข็ง
วันที่สามคุณครูห้ามพ่อแม่เข้ามายุ่มย่ามในโรงเรียนแล้ว
มีการเกณฑ์คุณครูจากชั้นประถมและมัธยมมาเต็มอัตราศึก
พอลูกลงจากรถปุ๊บคุรครูล็อกตัว พาเดินเข้าโรงเรียน
แน่นอน เด็กขี้อายอย่างลูกผม เจอไม้นี้เข้า ก็็ดิ้นพราดๆร้องทุรนทุราย
ผมทำได้อย่างเดียว ก็คือหันหลัง แล้วก็ขับรถออกไป (เรื่องมันเศร้า)
แต่สามวันมานี้ ผมรู้สึกชื่นใจอย่างหนึ่งก็คือ
ผมเลือกไปส่งลูกโดยใช้จักรยาน
ซึ่งก็โชคดีตรงที่จากบ้านไปโรงเรียน มันมีทางลัดที่รถไม่เยอะ
ก็เลยสามารถขี่แบบไม่ต้องกังวลกับอันตรายที่เกิดจากรถยนต์
เวลาขี่ตรงนี้แหล่ะที่คุณพ่อกับคุณลูกจะคุยกระหนุงกระหนิงและใช้ quality time ร่วมกัน
ยกตัวอย่างหัวข้อสนทนาวันนี้
ปัณณ์: พ่อครับ เจ็บมือ
พ่อ: ไม่เรียกว่าเจ็บหรอกลูก มือมันชา ชาเพราะว่ามันกดบนจักรยานนานๆ (จักรยานเสือหมอบ)
ปัณณ์: แล้วขับรถหล่ะพ่อ มือชาไหม
พ่อ: ไม่ชาครับ ขับรถนานๆ ก้นมันจะชาแทน
ปัณณ์: ทำไม
พ่อ: ก็นั่งนานๆ ก้นมันโดนกดไว้ไงลูก
ปัณณ์: ทำไมพ่อ
พ่อ: (เปลี่ยนประเด็น เพราะรู้ว่า อธิบายไปมันก็จะถามว่า "ทำไม" ต่อไปเรื่อยๆ) รู้ไหมเวลาเรายืนนานๆ ขาก็จะชา
ปัณณ์: ทำไมพ่อ
พ่อ: ก็ขามันโดนกดไงลูก
ปัณณ์: ทำไมมันโดนกดล่ะพ่อ
พ่อ: แล้วรู้ไหม ถ้าแม่เปิ้ลบ่นให้เราฟังนานๆ หูเราก็จะชา เรียกว่า หูชา (ความสุขเล็กๆน้อยของสามี ก็คือการกัดภรรยา)
ปัณณ์: ทำไมครับพ่อ
(ถึงตอนนี้ผมเริ่มจะหายใจไม่ทันแล้ว เนื่องจากขี่จักรยานไปพูดไป)
ช่วงนี้ระยะทางขี่จักรยานก็เลยเพิ่มขึ้น
จากวันละ 10 km (ไป-กลับที่ทำงาน)
ก็เพิ่มขึ้นอีก 12 km (ไป-กลับ โรงเรียนลูก)
รวมเป็น 22 km
Friday, April 04, 2008
Subscribe to:
Posts (Atom)